โครงการสาทร โมเดล เดินหน้าใช้มาตรการการจัดการจราจรเต็มรูปแบบ

นายดรุณ แสงฉาย รองปลัดกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นางอัจฉรา ห่อสมบัติ รองผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร พันตำรวจเอก สุปัฎน์ จรจันทึก ผู้กำกับกองกำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจจราจร รองศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ สุพจน์ เตชวรสินสกุล ผู้แทนจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานร่วมคณะกรรมการโครงการคมนาคมอย่างยั่งยืน 2.0 กรุงเทพมหานคร ร่วมเป็นประธานแถลงข่าว การทดลองเชิงสังคม ครั้งที่ 3 ของโครงการสาทรโมเดล เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 ณ ห้องประชุมสาทร 1-2 อาคารคิวเฮ้าส์ลุมพินี ถนนสาทรใต้ กรุงเทพมหานคร

WBCSD_001 WBCSD_005 WBCSD_004 WBCSD_003

ความคืบหน้าของโครงการ “สาทร โมเดล”
โครงการสาทร โมเดล เป็นโครงการได้ริเริ่มมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2557 ภายใต้ความร่วมมือของ 4 องค์กร คือ สภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กระทรวงคมนาคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยความร่วมมือในการพัฒนาและดำเนินโครงการจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งจากภาคเอกชน 70 บริษัท และภาครัฐ ที่เกี่ยวข้องร่วมแก้ไขปัญหาจราจร แบบบูรณาการ ทำให้โครงการมีความคืบหน้าไปเป็นอย่างมาก ดังต่อไปนี้

 

• โครงการรถรับส่ง : เพื่อลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลบริเวณถนนสาทร
โครงการรถโรงเรียน (School Bus) หนึ่งในมาตรการสนับสนุนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในบริเวณถนนสาทรภายใต้โครงการรถรับส่ง (Shuttle Bus Scheme) ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน และ โรงเรียนอัสสัมชัญ แผนกประถม เพื่อสนับสนุนให้ผู้ปกครองมาใช้รถบัสที่ทันสมัยของโครงการสาทรโมเดล สำหรับรับ-ส่งบุตรหลาน โดยขณะนี้มีนักเรียนเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้นกว่า 40 คน
ทั้งนี้ โครงการ สาทร โมเดล กำลังพัฒนาระบบรถรับส่ง (Shuttle Bus) เพื่อรับส่งพนักงานบริษัททั้ง 23 บริษัทที่สนใจเข้าร่วมโครงการในบริเวณถนนสาทรและถนนสีลม

• โครงการจอดแล้วจร : เพื่อเพิ่มทางเลือกในการเดินทางสู่ถนนสาทร
โครงการจอดแล้วจร (Park & Ride Scheme) มาตรการเพิ่มทางเลือกสำหรับการเดินทางของประชาชนเข้าสู่พื้นที่ถนนสาทร จากความร่วมมือของสมาคมค้าปลีกไทย และสมาคมห้างสรรพสินค้าไทย ที่แบ่งปันพื้นที่จอดรถให้กับโครงการ รวมถึง บริษัท นิปปอนด์ ปาร์คกิ้ง ดีเวลลอบเม้นท์ ที่ได้ทุ่มเทพัฒนาพื้นที่จอดรถขึ้นมาใหม่ ในทำเลที่เชื่อมระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างสะดวก ทำให้มีพื้นที่จอดรถในโครงการรวมทั้งหมด 14 แห่ง สามารถรองรับรถยนต์ได้มากกว่า 2,500 คัน ซึ่งในปัจจุบันมีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการนี้ 267 คัน

• มาตรการเหลื่อมเวลาทำงาน : เพื่อกระจายปริมาณรถยนต์ในช่วงเวลาเร่งด่วน
มาตรการเหลื่อมเวลาทำงาน (Flexible Working Time) เพื่อกระจายปริมาณรถยนต์ที่เข้าสู่พื้นที่ถนนสาทรในชั่วโมงเร่งด่วน ด้วยความร่วมมือของบริษัทเอกชนที่มีสำนักงานในบริเวณถนนสาทร และสีลม ทั้ง 11 บริษัท ได้แก่
1. Aioi Bangkok Insurance Public Company Limited
2. BP-Castrol (Thailand) Limited
3. Bangkok Insurance Public Company Limited
4. Baker & MacKenzie Ltd. Attorneys at Law
5. Hitachi Asia (Thailand) Company Limited
6. Land and House Public Company Limited
7. Mitsui Sumitomo Insurance Co., Ltd. Thailand Branch
8. The Navakij Insurance Public Company Limited
9. Toyofuji Logistic (Thailand) Co., Ltd.
10.Toyota Motor Thailand Co., Ltd.
11. Dentsu (Thailand) Co., Ltd.
ทำให้มีพนักงานรวมกันกว่า 4,300 คน

WBCSD_002

นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ รองประธานกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “เราได้พัฒนา Application Linkflow เป็นเวอร์ชั่น 1.1.3 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือวางแผนการเดินทางในหลายรูปแบบ ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเปรียบเทียบผลทั้งในแบบขับรถอย่างเดียว หรือใช้ มาตรการ จอดแล้วจร แล้วเดินทางต่อด้วยระบบขนส่งสาธารณะ BTS หรือ MRT ไปยังจุดหมาย ช่วยให้คาดการณ์เวลาที่ใช้เดินทางได้ล่วงหน้า และเลือกวิธีที่ประหยัดค่าใช้จ่ายมากที่สุด รวมถึงทราบปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ และพลังงานที่ใช้ในการเดินทางในแต่ละทางเลือก เพื่อให้ทุกท่านมีทางเลือกในการตัดสินใจใช้เส้นทาง และวิธีการเดินทางได้อย่างเหมาะสม”

แอปพลิเคชั่น : Linkflow เวอร์ชั่น 1.1.3 : ผู้ช่วยวางแผนการเดินทางในกรุงเทพมหานคร
แอปพลิเคชั่น Linkflow เวอร์ชั่น 1.1.3 คือ ระบบที่ได้พัฒนาจากเทคโนโลยีจราจรอัจฉริยะขั้นสูง (ITS : Intelligent Transportation System) และประมวลผลอิงจากสภาพการจราจรจริง ณ เวลานั้น ๆ รวมถึงข้อมูลทางสถิติในอดีต เพื่อให้ทางเลือกของการเดินทางที่เหมาะสม ภายใต้เงื่อนไข 5 ประการดังนี้
1. ความรวดเร็วในการเดินทาง
2. ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
3. ความสะดวกสบายในการเดินทาง
4. การส่งผลต่อสุขภาพระหว่างการเดินทาง
5. การส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมระหว่างเดินทาง

ทั้งนี้ผู้ที่ใช้แอปพลิเคชั่น Linkflow เวอร์ชั่น 1.1.3 จะสามารถใช้ข้อมูลย้อนหลังประกอบกับข้อมูลปัจจุบันเพื่อช่วยในการตัดสินใจเลือกใช้เส้นทางและวิธีการเดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ Linkflow ได้เตรียมช่องทางในการมีส่วนร่วมของผู้ใช้ผ่านทาง Social Network รวมถึงระบบสะสมคะแนน และเกมส์ต่างๆ เพื่อให้ผู้เดินทางสามารถร่วมสนุกและเกิดการใช้งานอย่างต่อเนื่อง

 

ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น Linkflow เวอร์ชั่น 1.1.3 ฟรี
ทาง App Store และ Google Play ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

 

การทดลองเชิงสังคมครั้งที่ 3 ของโครงการ “สาทร โมเดล”
นายนินนาท กล่าวเพิ่มเติมว่า “สำหรับการทดลองเชิงสังคมครั้งที่ 3 ของโครงการ สาทร โมเดล เราได้รับอนุญาตจาก กรุงเทพมหานคร ให้ทำการติดตั้ง Loop Coil Sensor และ CCTV แบบ Thermal Sensor เพื่อตรวจวัดปริมาณการจราจรและนำข้อมูลแบบ Real Time มาประมวลผลสำหรับการปรับตั้งเวลาสัญญาณไฟแต่ละทิศทางให้มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงการสนับสนุนการใช้มาตรการบริหารจัดการจราจรให้คล่องตัว ทั้ง 19 มาตรการ ภายใต้การสนับสนุนและดำเนินการโดยกรุงเทพมหานครและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่จะเป็นส่วนสำคัญให้การทดลองแก้ไขปัญหาจราจรบริเวณถนนสาทรให้มีผลสำเร็จเป็นรูปธรรม
ที่สำคัญ โครงการ สาทร โมเดล มีความพร้อมแล้วที่จะเดินหน้าสู่การทดลองเชิงสังคมครั้งที่ 3 ของโครงการสาทร โมเดล ในวันที่ 6 – 17 มิถุนายน 2559 และผมขอเชิญชวนทุกท่านเข้าร่วมชมนิทรรศการ “Make You Happy Journey” เพื่อให้ความรู้และความเข้าใจในโครงการ สาทร โมเดล มากขึ้น ณ บริเวณอาคาร เอ็มไพร์ ทาวเวอร์ ถนนสาทร ระหว่างวันที่ 13 – 17 มิถุนายน 2559”

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมชมนิทรรศการ “Make You Happy Journey” สร้างสรรค์ความสุขในการเดินทางได้ที่ ชั้น G อาคาร เอ็มไพร์ ทาวเวอร์ ถนนสาทร ระหว่างวันที่ 13 – 17 มิถุนายน 2559 ตั้งแต่เวลา 09:00-18:30 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

“ทั้งหมดนี้คือความมุ่งมั่นของเราที่จะทำให้ ถนนสาทร เป็นถนนต้นแบบของการพัฒนาคมนาคมอย่างยั่งยืน ผมขอขอบคุณทุกภาคส่วน ทั้งราชการและเอกชน ที่ให้การสนับสนุน และมีส่วนร่วมในมาตราการต่าง ๆ ที่กล่าวมา ผมเชื่อมั่นว่าปัญหาจราจรจะถูกทำให้เบาบางและหมดไปได้ หากทุกคนได้ร่วมมือ เพื่อประโยชน์ของสังคมที่จะพัฒนาต่อไปอย่างยั่งยืน ดั่งสโลแกนของเราที่ว่า “สร้างสรรค์ความสุขในการเดินทาง” นายนินนาท กล่าวในที่สุด

Facebook Comments