โตโยต้าคาดตลาดรวมในประเทศปี 2560 ขาย 800,000 คัน เป้าหมายการขายโตโยต้า 265,000 คัน

มร.เคียวอิจิ ทานาดะ เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด แถลงสถิติการจำหน่ายรถยนต์ปี 2559 พร้อมคาดการณ์ตลาดรถยนต์ไทยปี 2560 เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2560 ณ ห้องบอลรูม โรงแรมโอกุระ กรุงเทพฯ

2017 TOYOTA Annual Press Conference_002

มร.ทานาดะ กล่าวว่า “ยอดขายรถยนต์รวมในประเทศไทยปี 2559 มียอดขายอยู่ที่ 768,788 คัน มีอัตราการเติบโตลดลง 3.9% โดยตลาดรถเพื่อการพาณิชย์มียอดขายลดลง 2.3% ตลาดรถยนต์นั่งมียอดขายลดลง 6.5%
หากพิจารณาสถิติยอดขายตลาดรถยนต์จะพบว่าปีที่ผ่านมาถือเป็นอีกปีแห่งความยากลำบากของอุตสาหกรรมยานยนต์ ถึงแม้ว่าจะมีปัจจัยบวกทั้งจากการเบิกจ่ายเงินลงทุนจากภาครัฐรวมถึงการผลักดันและส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชน หากแต่ยังมีผลกระทบจากกำลังซื้อบางส่วนที่เกิดขึ้นล่วงหน้าจากการเร่งกำลังซื้อก่อนการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา”

2017 TOYOTA Annual Press Conference_004

สถิติการขายรถยนต์ ในปี 2559

ยอดขายปี 2559 เปลี่ยนแปลง เทียบกับปี 2558

 
 ปริมาณการขายรวม 768,788 คัน -3.9%
 รถยนต์นั่ง 279,827 คัน -6.5%
 รถเพื่อการพาณิชย์ 488,961 คัน -2.3%
 รถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง) 394,127 คัน -0.7%
 รถกระบะ 1 ตัน (ไม่รวมรถกระบะดัดแปลง) 333,447 คัน +1.7%

 

โดยโตโยต้ามียอดขาย 245,087 คัน ลดลง 7.9% แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 87,271 คัน ลดลง 17.2%
รถเพื่อการพาณิชย์ 157,816 คัน ลดลง 1.7% และรถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่ง
ของยอดขายรถเพื่อการพาณิชย์ 148,494 คัน ลดลง 1.7.%

 

สถิติการขายรถยนต์ของโตโยต้า ในปี 2559

 ปริมาณการขายโตโยต้า 245,087 คัน ลดลง 7.9% ส่วนแบ่งตลาด 31.9%
 รถยนต์นั่ง 87,271 คัน ลดลง 17.2.% ส่วนแบ่งตลาด 31.2%
 รถเพื่อการพาณิชย์ 157,816 คัน ลดลง 1.7% ส่วนแบ่งตลาด 32.3%
 รถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง) 148,494 คัน ลดลง 1.7% ส่วนแบ่งตลาด 37.7%
 รถกระบะ 1 ตัน (ไม่รวมรถกระบะดัดแปลง) 120,444 คัน เพิ่มขึ้น 0.3% ส่วนแบ่งตลาด 36.1%

 

ด้านการส่งออกในปีที่ผ่านมา โตโยต้าได้ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปจำนวน 318,658 คัน ลดลง 15% คิดเป็นมูลค่า 180,707 ล้านบาท ตลอดจนการส่งออกชิ้นส่วน มูลค่า 62,015 ล้านบาท รวมเป็นมูลค่าการส่งออกที่นำรายได้กลับสู่ประเทศไทยเป็นเงินทั้งสิ้น 242,722 ล้านบาท”

สำหรับแนวโน้มตลาดรถยนต์ปี 2560 มร.ทานาดะ กล่าวว่า “แนวโน้มตลาดรถยนต์ในประเทศปี 2560 มีปัจจัยบวกเพิ่มขึ้นจากการครบกำหนด 5 ปี โครงการรถยนต์คันแรก รวมถึงการส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐ และการแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่จากหลายค่ายรถยนต์ ดังนั้นคาดว่าจะมียอดขายรวมอยู่ในระดับ 800,000 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ 4.1%

 

ประมาณการยอดขายรถยนต์ในประเทศ ปี 2560

 ปริมาณการขายรวม 800,000 คัน เพิ่มขึ้น 4.1%
 รถยนต์นั่ง 316,000 คัน เพิ่มขึ้น 12.9%
 รถเพื่อการพาณิชย์ 484,000 คัน ลดลง 1.0%
 รถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง) 382,100 คัน ลดลง 3.1%
 รถกระบะ 1 ตัน (ไม่รวมรถกระบะดัดแปลง) 324,000 คัน ลดลง 2.8 %

โดยโตโยต้าตั้งเป้าหมายการขายสำหรับตลาดรถยนต์ในประเทศปีนี้ไว้ที่ 265,000 คัน แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 110,000 คัน เพิ่มขึ้น 26.0% รถเพื่อการพาณิชย์ 155,000 คัน ลดลง 1.8% และ รถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยอดขายรถเพื่อการพาณิชย์ 147,000 คัน ลดลง 1.0%

 

ประมาณการขายรถยนต์ของโตโยต้า ในปี 2560

 ปริมาณการขายรวม 265,000 คัน เพิ่มขึ้น 8.1% ส่วนแบ่งตลาด 33.1%
 รถยนต์นั่ง 110,000 คัน เพิ่มขึ้น 26.0% ส่วนแบ่งตลาด 34.8%
 รถเพื่อการพาณิชย์ 155,000 คัน ลดลง 1.8% ส่วนแบ่งตลาด 32.0%
 รถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง) 147,000 คัน ลดลง 1.0% ส่วนแบ่งตลาด 38.5%
 รถกระบะ 1 ตัน (ไม่รวมรถกระบะดัดแปลง) 122,000 คัน เพิ่มขึ้น 1.3% ส่วนแบ่งตลาด 37.7%

 

สำหรับเป้าหมายการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปของโตโยต้าในปีนี้อยู่ที่กว่า 282,100 คัน คิดเป็นมูลค่า 156,785 ล้านบาท ลดลงจากปีที่แล้ว 11% เนื่องมาจากผลกระทบจากสถานการณ์ในตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดส่งออกที่สำคัญ”

 

มร.ทานาดะ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ปีนี้เป็นการก้าวเข้าสู่ปีที่ 55 ของโตโยต้าที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย เราขอยืนยันในความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนความสุขให้กับสังคมไทย ด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนอง ไลฟ์สไตล์และความต้องการของลูกค้าอย่างเหนือความคาดหมาย รวมถึงการทำกิจกรรมทางสังคมอย่างต่อเนื่อง ทั้งโครงการโตโยต้าธุรกิจชุมชนพัฒน์ โครงการถนนสีขาวเมืองสีเขียว และที่สำคัญการสนับสนุนกิจกรรมที่สร้างความสุขให้กับคนไทย ด้วยการสนับสนุนกีฬาฟุตบอลอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงกิจกรรมส่งเสริมความสามารถของเยาวชนไทย ทั้งโครงการค่ายศิลปะสู่เยาวชน Art Camp และ Dream Car Arts Project
ทั้งนี้ โตโยต้า ยังคงมุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพและพัฒนาขีดความสามารถทางด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของตลาด”

มร.ทานาดะ กล่าวย้ำความเชื่อมั่นในประเทศไทย “สำหรับ ประเทศไทย ยังเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนตลาดของภูมิภาคนี้ และเป็นศูนย์กลางทางการผลิตที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโตโยต้า ซึ่งเรามีความเชื่อมั่นและพร้อมที่จะลงทุนในประเทศไทย รวมถึงยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยและส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยี สู่ประเทศไทย เพื่อให้ประเทศไทยเติบโตและพัฒนาขึ้นอย่างยั่งยืน ซึ่งนี่คืออีกหนึ่งความสุขที่เรามุ่งที่จะขับเคลื่อนและพร้อมจะยืนเคียงข้างคู่กับคนไทยอย่างยั่งยืนตลอดไป”

Facebook Comments